เมื่อพูดถึงยุคสมัยนี้ คุณคงคิดถึงโลกดิจิทัล การยอมรับการเปลี่ยนแปลงจากวัฒนธรรมเดิม ๆ Thailand 4.0 หรืออาจจะเป็นอะไรอื่น ๆ อีกมากมายที่หมายถึงการพัฒนา แต่สิ่งหนึ่งที่กำลังพัฒนาไปเหมือนกันนั่นก็คือตลาดซีรีส์วาย หรือ Y-marketing ที่มีการนำนักแสดงชายสองคนมาเล่นละครหรือซีรีส์ด้วยกัน โดยคนหนึ่งรับบทเป็น ‘พระเอก’ และอีกคนรับบทเป็น ‘นายเอก’ แทนนางเอก เพื่อเป็นการแสดงถึงความเปิดกว้างทางสังคม ว่าเราไม่จำเป็นต้องยึดติดกับขนบธรรมเนียมเดิม ๆ ทำให้เกิดกระแสคู่จิ้นเพราะความน่ารักและความเข้ากัน (Chemistry) ของนักแสดง
ซึ่งสิ่งนี้ทำให้มีการตลาดแบบใหม่ในแขนง Influencer marketing โดยการนำนักแสดงซีรีส์วายมาทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์ในช่องทางต่าง ๆ ผ่าน Digital Marketing Agency เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้คนหันมาให้ความสนใจโลกดิจิทัลมากขึ้น การทำการตลาดผ่านช่องทางทั่วไปจึงอาจไม่เหมาะสมกับซีรีส์วายที่บูมขึ้นมาได้ด้วยพลังของ Social Network เพราะ leads หรือ กลุ่มลูกค้าอาจจะไม่ตรงกัน
อย่างไรก็ตามซีรีส์วายในยุคที่พึ่งเข้ามาในประเทศไทยใหม่ ๆ ในสมัยนั้นมีเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ เองก็กำลังชิมลางว่าเส้นทางนี้จะออกมาเป็นรูปแบบไหน
ทั้งนี้เนื่องจากสมัยก่อนภาพลักษณ์ของผู้ชายสองคนรักกันเป็นเรื่องที่ยังไม่เป็นที่นิยมและยังไม่ได้รับการยอมรับ หากบริษัทผลิตหนังแนวนี้ขึ้นมาอาจจะเป็นที่ติเตียน หรืออาจจะคิดว่าไม่คุ้มค่าเพราะการทำหนัง หรือซีรีส์เป็นการหาลูกค้าแบบ warm leads คือต้องทำให้ซีรีส์เป็นที่สนใจของลูกค้าจึงจะดึงดูดพวกเขาให้เข้ามาได้ ไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นการลงทุนที่เปล่าประโยชน์
แต่ในปัจจุบันซีรีส์วายได้ก้าวข้ามขีดจำกัดทางเพศ และเริ่มมีตัวตนในประเทศไทยมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็น Soft power ใหม่ของไทยเลยก็ว่าได้ ดังนั้นนักการตลาดจึงควรเรียนรู้ต้นกำเนิดและคาดการณ์การพัฒนาของการตลาดแขนงนี้ครับ
สามารถเลือกอ่านเช็คลิสต์ที่สนใจได้เลยครับ
1. จุดเริ่มต้นซีรีส์วาย
2. การพัฒนาของซีรีส์วายในประเทศไทย
สถิติซีรีส์วาย
3. ซีรีส์วายไทยไปไกลระดับโลก
บทสรุป
จุดเริ่มต้นซีรีส์วาย
ก่อนหน้าที่จะมาโด่งดังในไทย ตลาด ‘Y’ หรือ ‘Yaoi’ นั้น ถือกำเนิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเป็นที่แรกในรูปแบบการ์ตูน และได้รับความนิยมมาเป็นเวลานาน ก่อนที่จะถูกนำมาเผยแพร่ในไทยในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์ เช่นการ์ตูน หรือนิยายแปล แล้วหลังจากนั้นจึงเริ่มมีนักเขียนไทยที่ออกมาสร้างผลงานด้วยตัวเอง ในเว็บต่าง ๆ เช่น Dek-d หรือ Thaiboyslove จนได้รับการทำเป็นซีรีส์ในที่สุด
เอาล่ะ . . . มาดูกันดีกว่าว่าซีรีส์วายเรื่องแรก ๆ ในไทยนั้นมีอะไรบ้าง
1. รักแปดพันเก้า
‘รักแปดพันเก้า’ เป็นซีรีส์ยุคบุกเบิกจริง ๆ ของซีรีส์วาย เพราะได้มีการจัดทำละครเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2547 โดยหลาย ๆ คนคงไม่รู้ว่า ‘จอน’ และ ‘ที’ ที่รับบทโดย ‘รุ่งเรื่อง อนันตยะ’ และ ‘ภูริ หิรัญพฤกษ์’ เป็นต้นแบบอิมเมจตัวละครของซีรีส์วายหลาย ๆ เรื่องในปัจจุบัน โดยคาแรกเตอร์ของพระเอกนั้นถูกกำหนดมาว่าให้มีความมาดแมน และสุขุม ในขณะที่ฝ่ายนายเอกต้องมีคาแรกเตอร์เรียบร้อยและสดใส

2. Lovesick the series
หากเขยิบเข้ามาในยุคปัจจุบันมากขึ้นหน่อย หลาย ๆ คนคงรู้จัก ‘ปุณ-โน่’ ที่นำแสดงโดย ‘ณวัชร์ พุ่มโพธิงาม’ และ ‘ชลธร คงยิ่งยง’ ที่เรียกได้ว่ามาทำให้วงการบันเทิงสั่นสะเทือนอีกครั้งในสิบปีให้หลัง หลังจากเรื่องรักแปดพันเก้า
โดยคาแรกเตอร์นักแสดงเรื่องนี้ก็มีความคล้ายกับเรื่องรักแปดพันเก้า ต่างเพียงเนื้อเรื่องที่ถูกปรับให้มีความเข้ากับวัยรุ่น และยุคสมัยมากขึ้น แถมยังเป็นเรื่องแรก ๆ ที่คู่วายได้รับบทนำอย่างเต็มตัว ไม่ใช่คู่รองอีกต่อไป และเรื่องนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบซีรีส์วายในมหาลัยได้เช่นกันครับ

การพัฒนาของซีรีส์วายในประเทศไทย
หลังจากสองเรื่องนี้แล้วก็ได้มีการบุกเบิกตลาดมากขึ้นเพราะ Lovesick the series ได้ทำกระแสเอาไว้จนติด twitter trend ด้วยความรวดเร็ว แถมนักแสดงยังได้ไปทำงานไกลถึงประเทศจีน ทำให้หลาย ๆ บริษัทหันกลับมาสนใจทางด้านนี้ เหมือนเช่น GMMTV ที่ได้ผลิตซีรีส์วายหลากหลายเรื่องในแต่ละปี เช่น
- 2gether the series เพราะเราคู่กัน หรือที่เรารู้จักกันในนามของ ‘คั่นกู’
- Sotus the series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง
- 1000 stars นิทานพันดาว
แต่หากให้ยกตัวอย่างความก้าวหน้าของวงการวายจริง ๆ คงอดไม่ได้ที่จะพูดถึงเรื่อง 2gether the series ทั้งนี้เพราะในขณะที่ซีรีส์กำลังฉาย #คั่นกู นั้น นอกจากจะติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยแล้ว ยังติด เทรนด์ทวิตเตอร์ทั่วโลกอีกต่างหาก
แถมยอดไลก์และยอดวิวของนักแสดงนำอย่าง ‘วชิรวิชญ์ ชีวอารี’ ใน Instagram มักจะเกินล้านอยู่บ่อย ๆ แสดงให้เห็นถึงความโด่งดังของเขาหลังเล่นซีรีส์
ทั้งนี้เพราะก่อนจะเล่นซีรีส์เรื่องนี้ เขาได้รับบทเล่นละครมานับสิบเรื่อง เช่น ละครเรื่องรูปทอง ซีรีส์เรื่อง Social death vote แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่ได้รับกระแสตอบรับดีเท่าเรื่อง 2gether the series มาก่อน
นอกจากนี้ยังมีนักแสดงอีกหลายคู่ที่บางครั้งยังไม่เคยเล่นหนังเรื่องไหนเลย แต่เมื่อมาเล่นซีรีส์วายกลับโด่งดังขึ้นมาทันที รวมถึงสามารถมัดใจคนดูได้อยู่หมัดด้วยเคมีที่เข้ากัน และความน่ารักเวลาอยู่ด้วยกัน
สถิติซีรีส์วาย
คงเห็นกันแล้วใช่ไหมครับ ว่ากระแสวายนั้นสามารถผลักดันนักแสดงได้ให้มีความโด่งดังข้ามคืนได้อย่างไรบ้าง ทีนี้เรามาดูสถิติคร่าว ๆ กันดีกว่าครับ
ซีรีส์วายเกือบทั้งหมดได้ถูกถ่ายทอดผ่านทาง LineTV ซึ่งถือเป็น Platform ที่ทำ content เพื่อดึง leads ที่เป็นสาววายอย่างจริงจัง โดยการทำ Digital Marketing เพื่อดึงดูดเหล่าแฟนคลับผ่าน Social Media ช่องทางต่าง ๆ และได้มีสถิติที่น่าสนใจสำหรับนักการตลาดอยู่สองสามอย่าง
- เมื่อเดือน มกราคม-กันยายน ปี 2020 นั้นทาง LineTV ได้มาบอกว่ามี New users ที่เข้ามาดูคอนเทนต์วายเพิ่มขึ้นถึง 19 ล้าน Users และทาง LineTV นั้นได้เตรียมตัวเพื่อที่จะหาช่องทางให้แบรนด์ต่าง ๆ ที่ต้องการทำโฆษณาบนซีรีส์วายมีโอกาสได้ลงสนามจริง
- กลุ่มผู้ชมคอนเทนต์ซีรีส์วายกว่า 78% เป็นผู้หญิง และมีช่วงอายุอยู่ที่ประมาณ 15-40 ปี ซึ่งถือเป็นช่วงอายุที่ค่อนข้างกว้างรวมทั้งคนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ล้วนเป็นคนที่มีกำลังทรัพย์
- ผู้ชมซีรีส์วายส่วนใหญ่นอกจากจะมีฐานะแล้ว ยังรับได้กับการโฆษณาผ่านทางซีรีส์แบบไม่ตะขิดตะขวงใจ รวมถึงยินยอมให้มีการ Tie-in สินค้าโดยตรง และพวกเขาก็พร้อมจะซัพพอร์ทสินค้าทุกชนิดที่นักแสดงได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ เพราะเมื่อนักแสดงได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ เขาก็จะได้รับส่วนแบ่ง แถมยังเป็นที่รู้จักมากขึ้น เหล่าแฟนคลับจึงพร้อมจ่ายเงินเพื่อศิลปินที่ตัวเองรัก
ซีรีส์วายไทยไปไกลระดับโลก
เอาล่ะครับ หลังจากเห็นกันไปแล้วว่าซีรีส์วายนั้นยิ่งใหญ่แค่ไหนในประเทศไทย หากคุณเป็นนักการตลาด คุณก็คงอยากรู้ใช่ไหมครับว่าซีรีส์วายไทยมันไปไกลแค่ไหน แล้วมันคุ้มค่าที่จะลงทุนจริง ๆ เหรอ ?
ถ้าอย่างนั้นผมอยากจะให้คุณดูสิ่งนี้ครับ

จำพวกเขาเหล่านี้ได้ไหมครับ พวกเขาคือนักแสดงซีรีส์วายที่สร้างกระแสท่วมท้นและทำให้ GMMTV ดังไปทั่วโลกนั่นเองครับ ใช่ครับ . . . ทั่วโลก ลองดูคลิปนี้นะครับ คลิปนี้เป็นคลิป Fan made ที่สร้างขึ้นโดยชาวต่างชาติที่เป็นแฟนคลับของไบร์ท-วินครับ และหากคุณดูตรงคอมเมนต์ คุณจะเห็นว่าจาก 1000 กว่านั้น เป็นภาษาอังกฤษไปแล้วเกินครึ่ง
และหากคุณคิดว่าซีรีส์วายดังแค่ในเอเชียลองดู Instagram นี้ครับ มันเป็น Instagram ที่สร้างขึ้นโดยแฟนคลับชาวบราซิล ซึ่งมียอด Follower กว่า 18.1k และถึงแม้เขาจะเขียนใน Biography ว่าเขาโพสต์เกี่ยวกับ Boys love series หนังและ Kpop แต่ส่วนมากเนื้อหาจะเกี่ยวกับซีรีส์วายครับ

และนอกจาก account นี้แล้วยังมีแฟนคลับอีกหลายประเทศที่สร้าง account คล้าย ๆ กัน เช่น อิสราเอล เป็นต้นครับ และในหนึ่งประเทศแน่นอนว่ามีหลาย account ทีเดียวครับ
ทีนี้เรากลับมาที่ Global Fan meeting กันครับ หลังจากที่ GMMTV ได้รับกระแสตอบรับจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทางบริษัทก็ได้แพลนที่จะจัดงาน Fan meeting ขึ้นมา แต่เพราะเป็นช่วง Covid-19 ทำให้พวกเขาต้องจัด Fan meeting แบบ Live สดแทน
เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงสบโอกาสได้จัดทำ Global Fan meeting เสียเลยโดยอนุญาตให้คนดูต่างประเทศถึง 93 ประเทศเข้าชมด้วยผ่าน VLive ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม ไปจนถึงวันที่ 20 มิถุนายนปี 2020 ครับ โดยค่าบัตรเข้านั้นอยู่ที่ราว ๆ 1000 บาท
โดยนักแสดงที่อดพูดถึงไม่ได้ก็คือไบร์ท-วินคู่เดิมครับ เพราะหลังจากที่พวกเขาเริ่มไลฟ์นั้น #GlobalLiveFMxBrightwin ก็ขึ้นเทรนด์ Twitter ทันทีทั้งเทรนด์ Global เทรนด์ประเทศไทย หรือแม้แต่เทรนด์ประเทศอื่น ๆ และมียอด Tweet กว่า 2 ล้านครั้ง
ยอดกดหัวใจใน VLive นั้นก็ถือว่าเกินความคาดหมายไปมาก เพราะพวกเขาได้รับการกดไลก์ใน VLive ด้วยหัวใจกว่า 1,165 ล้านดวงซึ่งถือเป็นเป็นศิลปินกลุ่มแรกที่ได้รับหัวใจเยอะขนาดนี้นอกจากศิลปินเกาหลี
และกิจกรรมรวมทั้งตาราง Fan meeting นั้นคือการที่ให้นักแสดงนำทั้งสองคนออกมาร้องเพลงด้วยกัน พูดคุยกัน แล้วหลังจากนั้นก็มีการจัดกิจกรรมร่วมกับ Lucky fans แล้วก็ให้เหล่าศิลปินเล่นเกมกันเอง โดยมีการแปลเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษบ้างเป็นครั้งคราว
คุ้น ๆ ไหมครับ . . . ใช่ครับมันคือ pattern เดียวกับ Fan meeting ของศิลปินเกาหลีเลยครับ เริ่มตั้งแต่การใช้ VLive เพราะ VLive เป็นแอปพลิเคชันที่ศิลปินเกาหลีใช้เพื่อพูดคุยกับแฟนคลับ

ไหนจะกิจกรรม Lucky fans ที่หากคุณเป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลีคุณคงคุ้นเคยกับรายการ After School Club หรือ ASC ที่มีการให้แฟนคลับทั่วโลกได้คุยกับศิลปินปิน ถูกไหมครับ และรายการ ASC นั้นก็มักจะมีการใส่ Subtitle เป็นภาษาอังกฤษให้ข้างใต้อีกด้วย
ที่ผมต้องการจะสื่อก็คือคุณสังเกตุไหมครับ ว่าซีรีส์วายกำลังจะเป็นตัวแทนของประเทศไทย เหมือนที่ Kpop เป็นตัวแทนของประเทศเกาหลี เมื่อไหร่ที่ทุกคนพูดถึงเพลง pop คงไม่มีใครไม่นึกถึงเกาหลีเป็นที่แรก เช่นกันครับ ต่อไปนี้หากพูดถึงซีรีส์วาย คุณอาจจะไม่ได้นึกถึงประเทศญี่ปุ่นอีกต่อไป แต่เป็นประเทศไทยครับ
ซึ่งสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Soft power นั่นเองครับ คุณอาจจะคิดว่ามันคือพลังของศิลปินที่แสดงความละมุนออกมาให้แฟนคลับเห็นแล้วชื่นชอบใช่ไหมครับ หากอยู่ดี ๆ ผมก็พูดขึ้นมาแบบนี้ แต่จริง ๆ แล้วมันถูกเพียงครึ่งเดียวครับ
Soft power คือพลังในการเปลี่ยนแปลงมุมมอง ความคิด พฤติกรรมของคนอื่นโดยที่ไม่มีการใช้พลกำลังนั่นเองครับ หากให้ผมยกตัวอย่างสักตัวอย่างหนึ่ง ผมก็จะเลือก Kpop นี่แหละครับ
ในวงการเกาหลีนั้น คุณอาจจะคิดว่ามันคือความสนุก ความฟินที่ได้เห็นศิลปินเกาหลีมาแสดง หรือได้รับรางวัลใช่ไหมครับ แต่เบื้องหลังนั้นมันมี Soft power ซ่อนอยู่ โดยเกาหลีมีองค์กรมากมายที่สนับสนุนความเป็นเกาหลี วัฒนธรรมเกาหลี และพวกเขาเลือกที่จะถ่ายทอดมันออกมาผ่านศิลปินเกาหลีครับ
นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมเราถึงเห็นการใส่ฮันบกในประเทศไทย การกินกิมจิในประเทศไทย หรือแม้แต่ตะเกียบเกาหลีที่วางขายอยู่ตามห้างก็เป็น Soft power ที่เกาหลีส่งมาให้เราเหมือนกันครับ
และนั่นแหละครับ ซีรีส์วายไทยตอนนี้กำลังส่ง Soft power ออกไปทั่วโลกไม่ต่างกับเกาหลี ทำให้ในอนาคตคุณอาจจะเห็นต้มยำกุ้งในประเทศบราซิล หรือข้าวผัดกะเพราในประเทศอเมริกาก็เป็นได้ครับ และนั่นแหละครับเป็นเหตุผลที่ทำให้ซีรีส์วายเป็นตลาดสำคัญที่นักการตลาดทุกคนควรรู้จักเอาไว้
บทสรุป
คุณคงเห็นการเจริญเติบโตของซีรีส์วายไปไม่มากก็น้อยใช่ไหมครับ จากซีรีส์ที่อยู่ใน Niche market ถูกสร้างขึ้นจากผู้หญิงถึงผู้หญิง กลับดังไปไกลระดับประเทศ และกำลังแพร่กระจายไปทั่วโลก เปรียบเสมือนกับ Kpop ที่เป็น Soft power ของประเทศเกาหลี
หากคุณเป็นนักการตลาด ผมหวังว่าคุณจะได้เห็นถึงการเปลี่ยนไปของเทรนด์ในยุคปัจจุบัน และวัฒนธรรมที่เริ่มเปลี่ยนไป ว่าซีรีส์วายไม่ได้อยู่เพียงแต่ใน Niche market แคบ ๆ อีกต่อไปแล้ว และหวังว่าบทความนี้จะทำให้คุณสามารถเปิดใจให้กับความหลากหลายทางเพศที่มากขึ้น และนำมันไปปรับใช้กับแบรนด์หรือบริษัทของคุณ เพื่อรักษาและสร้าง leads ใหม่ ๆ ได้นะครับ
Reference: